จากหญิงหลงแสงสีในกรุง สู่เจ้าของกิจการหนังไก่ทอดในอเมริกา
ชีวิตช่วงวัยรุ่นของ แนตตี้ รุ่งนภา สายแก้วใจ แทบไม่มีวี่แววว่าในวันหนึ่งจะกลายเป็นเจ้าของธุรกิจในต่างแดน
เธอเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนไม่จบ และเที่ยวกลางคืนทุกสัปดาห์ แต่โชคชะตาก็นำพาให้เธอได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2006-2007 จนปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจขายหนังไก่ทอดทำรายได้มากมาย
จากการเป็นพนักงานเสิร์ฟในอเมริกา เธออยากหารายได้เสริมด้วยการค้าขายในตลาดนัดชาวเอเชีย ด้วยการขายของว่างที่คนไทยชอบ เช่น หนังไก่ทอด ที่จับใจคนอเมริกัน จนสร้างเป็นแบรนด์ Chick’n’Skin ที่เคยทำรายได้ทะลุหลักล้านดอลลาร์ต่อปี
เธอขอบคุณโลกออนไลน์ที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และเป็นตลาดสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโต
แนตตี้เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีแม่เป็นพนักงานบัญชีในบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง หลังจบชั้นมัธยมศึกษา เธอย้ายเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนได้เพียงสองปีก็ตัดสินใจหยุดเรียน
“เราไม่เคยเจอกรุงเทพฯ เจอแสงสี ชอบเที่ยว ไม่อยากเรียน แต่ไม่ถึงกับติดยา”
เธอย้อนเล่าว่าเที่ยวกลางคืนทุกสัปดาห์ และอาศัยเงินจากทางบ้าน จนกระทั่งได้รู้จักกับคนรักที่เป็นคนไทยสัญชาติอเมริกัน เมื่อเขากลับไปลาสเวกัสจึงเดินทางไปเยี่ยมและท่องเที่ยวไปด้วย จากตอนแรกที่คิดว่าจะอยู่เพียงเดือนสองเดือน ก็ยืดเวลาอยู่จนเต็ม 6 เดือนตามกำหนดของวีซ่า และในที่สุดก็ตัดสินใจอยู่ยาวโดยแต่งงานกับแฟนหนุ่มเพื่อให้ได้กรีนการ์ดสำหรับการทำงาน
“แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาสนับสนุนให้อยู่เพราะคิดว่าที่อเมริกามีโอกาสหาเงินได้มากกว่า โดยเฉพาะเรามาจากบ้านนอก การทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆ มันค่อนข้างน้อยในเมืองไทย”
อุปสรรคและโอกาสจากโซเชียลมีเดีย
แนตตี้เริ่มต้นด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไทยในลาสเวกัส จนกระทั่งเกิดวิฤกตเศรษฐกิจการเงิน หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 ทำให้ตกงานเกือบหนึ่งปี ในจังหวะเดียวกับที่เธอเลิกรากับคนรัก เธอจึงกลับมาอยู่ที่เมืองไทย
ด้วยความคิดที่จะกลับไปอเมริกาอีก เธอจึงบินไปที่แคลิฟอร์เนียและเริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอีกครั้ง คราวนี้เธอเริ่มมีสังคม มีเพื่อนคนไทย และเก็บเกี่ยวประสบการณ์แบบทำงานและเที่ยวไปโดยที่ไม่มีเงินเก็บ จนถึงช่วงที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “มาทำอะไรที่นี่”
การเป็นเด็กเสิร์ฟทำให้แนตตี้ประสบ “ความเรื่องมาก” ของลูกค้าในงานบริการ จึงไม่คิดอยากค้าขาย จนกระทั่งเพื่อนร่วมงานไปเปิดร้านขายน้ำในงาน 626 Night Market ตลาดนัดกินดื่มของชาวเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ลอสแอนเจลิส ทำให้พบกับคนรักใหม่ที่เป็นหนึ่งในทีมงานจัดงานนี้
ยุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของอินสตาแกรม ร้านค้าต่าง ๆ เน้นการสร้างสรรค์อาหารเพื่อการถ่ายรูป และแนตตี้ที่ชอบเล่นโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว จึงคิดว่าสิ่งนี้ไม่น่าจะเกินความสามารถ และนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับแฟน เริ่มแรกแนตตี้มีไอเดียที่จะเปิดร้านขายน้ำปั่นรูปตัวการ์ตูนเพื่อการถ่ายภาพ แต่แฟนค้านว่าสิ่งเหล่านี้ฮิตแค่เป็นบางช่วงควรจะขายอะไรที่ยั่งยืนกว่านี้ เธอเริ่มหวนนึกถึงตลาดนัดของเมืองไทยที่มีของกินเล่นอย่างหนังไก่ทอดวางขายอยู่มากมายแต่ไม่มีที่อเมริกา
“ตอนนั้นแค่บ่นๆ ว่าอยากกินหนังไก่ทอด จนไปกินร้านอาหารไทยแล้วมีเสิร์ฟหนังไก่ทอด พอแฟนได้ลองกินเขาก็ชอบ และเป็นไอเดียที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่เราจะหาหนังไก่ในอเมริกาได้จากที่ไหน”
แนตตี้ตระเวณหาหนังไก่ทั้งในตลาด ซูเปอร์มาเก็ต แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะทำขาย จนกระทั่งรุ่นพี่ในร้านอาหารไทยแนะนำโรงเชือดที่ปริมาณหนังไก่มากพอ แต่ปัญหาไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะโดยพื้นฐานเธอไม่ใช่คนที่ชอบทำอาหารเลย
“ไม่รู้เลยว่าหนังไก่ทอดยังไง ต้องหมักแบบไหนก็ถามสูตรจากแม่ จากคนรู้จัก ดูในยูทูบ บางทีทอดเป็นชั่วโมงก็ยังไม่กรอบ ก็มีท้อเหมือนกัน”
เธอใช้เวลาร่วม 3 เดือนในการลองผิดลองถูกจนได้หนังไก่ที่คิดว่าพอจะทำขายได้ จนได้เปิดร้านที่งาน 626 Night Market ในฤดูร้อนปี 2017
ความสำเร็จเกินคาด
แนตตี้ย้อนเล่าถึงบรรยากาศตอนเปิดร้านวันแรกที่เคยคิดว่าประสบการณ์ช่วยขายของกับเพื่อนจะทำให้เธอรับมือได้ แต่ในสถานการณ์จริง คิวรอซื้อหนังไก่ทอดยาวเป็นแถวก่อนเวลาเริ่มงานเสียอีก
“มันทั้งวุ่นวาย ทั้งเครียด ทั้งกังวลจนอยากจะเดินออกไปจากตรงนั้นเลย… ไม่คิดว่าจะมีคนมารอกินเยอะขนาดนี้ คงเพราะเขาคิดถึงรสชาติที่เคยกินมาก่อนในประเทศของเขา”
แม้มีเสียงบ่นจากลูกค้าบ้างในวันแรก ว่า เค็มไป หนังไก่ไม่กรอบเพราะตากลม เธอใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียนหาความรู้เพิ่มเติม
เธอบอกว่าทำได้ไม่เลวนักสำหรับงานแรก ของขายหมดภายในสามวันของการจัดงาน มีรายได้กลับมาเท่ากับต้นทุนที่ลงไปไม่เกิน 5,000 ดอลล่าร์
เดือนถัดมาเธอเปิดร้านอีกครั้งด้วยความพร้อมกว่าเดิม ที่สำคัญคือการจัดวางแตกต่างต่างด้วยการเสิร์ฟหนังไก่ทอดในสไตล์นาโชที่คนอเมริกันชื่นชอบ ทำให้ลูกค้าแชร์ภาพผ่านอินสตาแกรมทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ปกติก็ใช้โซเชียลมีเดียหาแรงบันดาลใจอยู่แล้ว พอมาคิดว่าอาหารของเราเป็นแค่หนังไก่ทอด จะทำยังไงให้คนอยากจะถ่ายรูปลงคอนเทนต์ ก็นึกถึงนาโชใส่ชีสเป็นท็อปปิ้งให้ดูมีสีสันมากขึ้น”
รายได้ของแนตตี้ขยับขึ้นเป็น 7,000-12,000 เหรียญต่องาน จนมีรายได้รวมเกือบ 50,000 ดอลล่าร์
บรรจุซองเพิ่มยอดขาย
หลังจากจบงาน 626 Night Market 4 งานในปีนั้น แนตได้รับข้อความว่าอยากให้ขายหนังไก่แบบรรจุซอง จึงเริ่มโพสต์ขายผ่านทางเฟซบุ๊กและอินสตราแกรมของทางร้าน เธอย้อนเล่าว่าครั้งแรกมีเพียงประมาณ 6 ออเดอร์ แต่ก็รู้สึกว่ามากแล้วเพราะขณะนั้นยังทำงานเสิร์ฟอยู่ รวมทั้งต้องทำเองทุกขั้นตอนทั้งการทอด บรรจุซองซิปล๊อค และส่งไปรษณีย์เองโดยทุกอย่างทำอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ชั้น 3 ที่เธออาศัยอยู่ จนเริ่มซื้อโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียและสร้างเว็บไซต์ขายแบบออนไลน์ ยอดสั่งซื้อก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายได้จากหลักพันสู่หลักหมื่นเหรียญ
“ตอนแรกยังทำทุกอย่างบนชั้น 3 พอคนสั่งมากขึ้นจะเดินขึ้นเดินลงก็ไม่ไหว และครัวก็เล็กไปแล้ว เราตัดสินใจเช่าครัวอุตสาหกรรม (Commercial Kitchen) และย้ายการผลิตไปที่นั่นทั้งหมด”
ในปี 2020 แนตตี้และคนรักขยายช่องทางการขายไปที่ Amazon รวมทั้งวางเป้าหมายว่าในวันหนึ่งจะขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเหมือนของกินเล่นยอดนิยมอย่างมันฝรั่งทอดหรือขนมอบกรอบ จึงปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สะดุดตาและเหมาะกับตลาดอเมริกัน รวมทั้งเพิ่มรสชาติจากรสดั้งเดิมเพียงอย่างเดียวเป็นรสที่ชาวอเมริกันชื่นชอบทั้ง บาร์บีคิว บัฟฟาโลวิง เกลือและพริกไทย ชีส จาไมกันเจิร์ก (Jamaican Jerk) รวมทั้งรสชาติไทย ๆ อย่างรสต้มยำ
“ตอนแรกก็ใช้เป็นรสต้มยำจากเมืองไทย แต่พอไปที่ส่งแล็บ แต่มีสีผสมอาหารตัวที่อเมริกาไม่อนุญาต จึงต้องจ้างโรงงานผลิตที่นี่แทน” แนตตี้ขยายความถึงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบการเกี่ยวกับอาหารซึ่งค่อนข่างยุ่งยากโดยเฉพาะประเภทเนื้อสัตว์ โชคดีที่แฟนของเธอเป็นชาวไต้หวันที่เกิดในอเมริกาจึงรับหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับใบอนุญาติและการวางจำหน่ายในขณะที่แนตตี้ดูแลด้านการผลิตเต็มตัว
“ความยากของการทำหนังไก่ทอดคือเราไม่รู้เลยว่าหนังไก่ที่ได้มาจะเป็นอย่างไรเช่นปัญหาเรื่องขนที่ติดมาก็ต้องถอนออกให้สะอาด และความหนาของแต่ละชิ้นก็ไม่เท่ากัน ก็ต้องคุมระยะเวลาให้กรอบทั่วแผ่น ไม่อย่างนั้นหนังไก่ก็จะเหม็นหืน เราพยามบรรจุซองให้ถึงมือลูกค้าเร็วที่สุด อีกอย่างที่สำคัญคือน้ำมันต้องใหม่ และเครื่องปรุงรสต้องอร่อย”
วิกฤตโควิด และโอกาสที่เพิ่มขึ้น
การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้งานเทศกาลต่างๆ ต้องหยุดลง แต่ยอดขายทางฝั่งออนไลน์ที่ค่อยๆขยับขยายไปที่เว็บไซต์อื่นทั้ง Etsy, Ebay กลับดีขึ้นมาก เมื่อรวมกับยอดขายในเว็บไซต์ของทางร้านก็สร้างรายได้มากกว่า 200,000 เหรียญต่อเดือนหรือราวๆ 2,400,000 เหรียญต่อปี คิดเป็นเงินไทยเกือบ 100 ล้านบาท โดยลูกค้าหลักของ Chick’n’Skin เป็นชาวเอชียร้อยละ 60 อีกร้อยละ 20 เป็นคนผิวดำและละตินส่วนที่เหลือเป็นคนผิวขาว
“คนอยู่บ้านและซื้อของออนไลน์มากขึ้นรวมทั้งได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย โชคดีที่เราปูพื้นฐานด้านออนไลน์มาก่อนหน้านั้น เพราะว่าถ้าเริ่มตอนนั้นก็ยากเหมือนกัน”
แนตตี้มองว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จมาจากคนอเมริกันชอบกินไก่ทอดเป็นทุนเดิม และหนังไก่ทอดก็มีส่วนคล้ายกับมันฝรั่งทอดกรอบ ทำให้กลายเป็นของกินเล่นระหว่างเชียร์กีฬาไปด้วย
หลังจากช่วงโควิดแม้ยอดขายลดลงตามสภาพเศรษฐกิจของอเมริกา แต่ในช่วงเทศกาลอย่างคริสมาสต์และปีใหม่ ยอดขายก็ยังดีอยู่ที่ 2,000-5,000 ซองต่อวัน ทุกวันนี้ธุรกิจหนังไก่ทอดยังไปได้สวย แนตตี้จึงสร้างโรงงานและกำลังอยู่ในช่วงย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานแห่งใหม่
“ การสร้างโรงงานช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องเช่นครัวอุตสาหกรรมซึ่งแพงมาก และมีเครื่องบรรจุอัตโนมัติก็ช่วยลดจำนวนพนักงานด้วย ทำให้ต้นทุนต่ำลงเพราะเราขายราคาสูงมากไม่ได้ ด้วยแพคเก็จของ Chick’n’Skin คล้ายกับมันฝรั่งทอดคนก็มักจะเอาไปเปรียบเทียบกันโดยที่ลืมไปว่านี่คือเนื้อสัตว์”
ส่วนแผนการในอนาคตนอกเหนือจากการขายส่งและวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต แนตตี้อยากขายแฟรนไซส์ในการออกร้านเพื่อขยายแบรนด์ออกไป และเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ ตามอาหารประจำชาติต่างๆ อย่างเช่นเทอริยากิ กิมจิ และขยายตลาดกลับมาที่เมืองไทยและประเทศในเอเชีย
“เราก็ไม่คิดว่าการหารายได้เสริมช่วงฤดูร้อนจะกลายเป็นธุรกิจได้แบบทุกวันนี้ คุณแม่เขาก็ภูมิใจเพราะเราเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน”
แม้จะมีธุรกิจทำเงินระดับหลักล้าน แต่แนตตี้นิยามชีวิดปัจจุบันไว้ว่า “ก็แค่กินของแพง ๆ ที่เราอยากกินได้” เพราะเงินที่ได้มาถูกนำไปต่อยอดธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น
“คนไทยจะคิดว่ามาอยู่อเมริกา สบาย มีเงิน แต่จริง ๆ แล้ว ก็ต้องสู้ ต้องอดทน งานเสิร์ฟที่นี่ได้เงินไม่มาก ขึ้นอยู่กับรัฐและร้านที่ไปอยู่ ถ้าอดทนได้ ที่นี่มีโอกาสมากกว่าเมืองไทยแน่นอน”
แนตตี้ยังเสริมว่าการมองหาโอกาสอาจจะมาจากความชอบส่วนตัวก็ได้ โดยยกตัวอย่างว่าเธอเป็นชอบเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อหาแรงบันดาลใจทั้งในเรื่องการหาช่องทางใหม่ๆ การตลาดหรือการปรับปรุงการนำเสนอตกแต่งหน้าตาอาหาร